การยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ทะเบียนการค้า
เครื่องหมายการค้า หรือที่ชาวบ้านคุ้นเคยรู้จักและเรียกขานกันง่าย ๆ ว่า ยี่ห้อ ตรา โลโก้ (Logo) หรือ แบรนด์ (Brand) นั้น เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง จัดอยู่ในประเภททรัพย์สินอุตสาหกรรม ซึ่งแทบทุกประเทศทั่วโลกได้มีกฎหมายรับรองและคุ้มครองสิทธิไว้
ชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกวันนี้ เกี่ยวข้องผูกพันอย่างใกล้ชิดอยู่กับเครื่องหมายการค้านับตั้งแต่เริ่มตื่นนอนตอนเช้า จนถึงเวลาล้มตัวลงนอนอีกครั้งหนึ่ง ล้วนแต่ต้องสัมผัสอยู่กับ สิ่งของเครื่องใช้และเครื่องอุปโภคบริโภคที่มีเครื่องหมายการค้าทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกา ปลุกที่ปลุกให้เราตื่นขึ้นตรงเวลา สุขภัณฑ์ที่ใช้ทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน สบู่ แชมพู ครีมและน้ำหอมต่าง ๆ เครื่องแต่งกายทุกชิ้น อาหารทุกมื้อ รถยนต์ มอเตอร์ไซด์ จักรยาน ที่ขับขี่ไปมา รวมทั้งเครื่องใช้ไม้สอยในการประกอบกิจการงานต่าง ๆ แทบทุกชนิดล้วนแล้วแต่มีเครื่องหมายการค้าทั้งสิ้น
คนไทยทั่วไปนั้น ยังมีความสนใจในเรื่องเครื่องหมายการค้าน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองเครื่องหมายการค้ามานานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2457 ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าทางราชการขาดการประชาสัมพันธ์อย่างเพียงพอ ประกอบกับไม่มีการเรียนการสอนวิชาเครื่องหมายการค้าในชั้นเรียน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาระดับใด จะเริ่มมีบ้างในระยะหลัง ๆ ที่มีการสอนวิชานี้เป็นวิชาเลือกในระดับปริญญาทางกฎหมายของบางสถาบัน จึงทำให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่นักกฎหมาย นักวิชาการ และผู้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเท่านั้น
ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจการค้านั้น ยังมีการใช้ประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าน้อยอยู่มาก อาจเป็นเพราะมองไม่เห็นความสำคัญและคุณค่าของเครื่องหมายการค้า จึงทำให้เกิดปัญหาการโต้แย้งและช่วงชิงสิทธิ รวมทั้งการปลอมแปลง ลอกเลียน และละเมิดเครื่องหมายการค้าเป็นคดีสู่ศาลมากมาย ทั้งในระหว่างคนไทยด้วยกันเองและระหว่างประเทศ สร้างความเสียหายในทางธุรกิจคิดเป็นมูลค่ามหาศาล
เรื่องของเครื่องหมายการค้า มีความสำคัญถึงขนาดถูกหยิบยกไปเป็นข้ออ้างในการตอบโต้และกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ดังเช่นกรณีสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยกล่าวหาว่าไทยไม่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ “อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ” และได้ใช้มาตรการภายใต้กฎหมายการค้าของสหรัฐระงับสิทธิ GSP ที่เคยให้แก่สินค้าไทย 16 รายการ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในปี พ.ศ. 2531 เป็นจำนวนถึง 165 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยอย่างประมาณค่าไม่ได้
นอกจากนั้น ขณะนี้ได้เกิดปัญหาการละเมิดเครื่องหมายการค้าของไทยในต่างประเทศอย่างมากมาย โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นตลาดสำคัญของไทย เช่น ประเทศจีน เวียดนาม พม่าเป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการส่งออกสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าไทย และส่งผลกระทบต่อดุลการค้าของประเทศ
เครื่องหมายการค้า ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในระบบเศรษฐกิจการค้า และนับวันจะยิ่งทวีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่คนไทยไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นิสิตนักศึกษาผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือประชาชนทั่วไป จะต้องตื่นตัวและหันมาให้ ความสนใจในเรื่องของเครื่องหมายการค้าอย่างจริงจัง เพื่อให้คนไทยมีความพร้อมต่อ สถานะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกได้
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบบริหารงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ จึงเห็นเป็นความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านเครื่องหมายการค้าให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบธุรกิจมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าในภาพรวมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่
รู้จัก คือรู้ว่าเครื่องหมายการค้าคืออะไร มีคุณค่าความสำคัญและมีประโยชน์อย่างไร และจะเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้อย่างไร
รักษา คือให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าตระหนักในคุณค่าของเครื่องหมาย การค้า และรู้วิธีป้องกันรักษาสิทธิประโยชน์ในเครื่องหมายการค้า ของตน
ละเว้น คือให้รู้ว่าการปลอมแปลง ลอกเลียน และละเมิดเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นเป็นความผิดและมีโทษตามกฎหมาย และควร ละเว้นการกระทำดังกล่าวเพื่อเป็นการเสริมสร้างวินัยทางการค้าเพื่อให้ระบบการค้าเกิดความเป็นธรรม
ค่าบริการในการดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ( THAI TRADEMARK)
รายการ | ราคา |
---|---|
TM 1 ตรวจสอบและยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ | 6,500 |
TM 2 โอนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ | 6,500 |
TM 3 ต่ออายุเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ | 5,500 |
TM 4 ตรวจสอบเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ | 2,500 |